Smart Farmers เกษตรอัจฉริยะยุคใหม่ ทางเลือกเกษตรกรยุคไอที

Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะ คือการทำการเกษตรที่นำเอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการดูแลการเพาะปลูก รวมไปถึงกระบวนการผลิต. เพื่อนำไปสู่การเกษตรเชิงธุรกิจ ด้วยการผสมผสานศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์การเกษตร กับศาสตร์ทางวิศวกรรมเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับเกษตรกร

เทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะนั้นตั้งอยู่บนแนวคิดของการทำเกษตรสมัยใหม่ที่เรียกว่า เกษตรแม่นยำสูง เป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยทำให้เกษตรกรสามารถปรับการใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่มากที่สุด รวมไปถึงเรื่องการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งฟาร์มพืชและสัตว์ ฟาร์มอัจฉริยะนี้จะมีความแตกต่างกับฟาร์มธรรมดาอยู่ตรงที่ การใช้ทรัพยากรนั้นทำได้อย่างแม่นยำและตรงต่อความต้องการของพืชและสัตว์ซึ่งช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรและได้ผลผลิตที่ออกมาตรงตามความต้องการของผู้ดูแลมากที่สุด


Food photo created by jcomp – www.freepik.com

แนวคิดของ Smart farming สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแนวคิดนี้เน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงในมิติของการผลิตและการตลาด รวมทั้งมีความสามารถในการผลิตและการตลาดในระดับที่พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้จัดการฟาร์มมืออาชีพที่ทำการเกษตรได้จนประสบความสำเร็จ จะเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแนวคิดของ Smart farming จะทำให้เกษตรกรที่มีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถวางแผนโดยรู้ถึงอุปสงค์ตลาดและเตรียมการผลิตให้สอดคล้อง รวมทั้งมีความสามารถในเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและในการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว โดยการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผล ตลอดจนรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเกษตร

หลักการของแนวคิด “สมาร์ทฟาร์ม” คือความพยายามยกระดับการพัฒนาเกษตรกรรมใน 4 ด้านที่ สำคัญได้แก่
  1. การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต
  2. การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า
  3. การลดความเสี่ยงในภาคเกษตร ซึ่งเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ และ
  4. การจัดการและส่งผ่านความรู้ (Knowledge Management and Transfer) โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศจากการวิจัยไปประยุกต์สู่การพัฒนาในทางปฏิบัติและให้ความส าคัญต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเกษตรกร
ดังนั้นการที่จะก้าวเข้ามาเป็น  สมาร์ทฟาร์ม Smart farmer จำเป็นที่ต้องเรียนรู้เทคโนโลยี ด้านต่างๆที่จะนำมาใช้  เช่น เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดิน , เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ , เซ็นเซอร์วัดคุณภาพของดิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นข้อเสียของเกษตรกร ที่จะก้าวเข้ามาเป็น  สมาร์ทฟาร์ม Smart farmer ทั้งด้านข้อจำกัดพื้นฐานด้านการศึกษา  ด้านเงินทุน ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี
ส่วนใหญ่คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านั้นก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เริ่มห่างไกลวิถีเกษตรกรรม จะดีไม่น้อยหากมีการสนับสนุนคนรุ่นเก่าที่มีความรู้ทางการเกษตรดีอยู่แล้ว ให้เข้าถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น เรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ คงต้องพึ่งหลายฝ่ายรวมถึงภาครัฐด้วย พอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคต เราจะเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่แพร่หลายและราคาไม่สูงมากนัก